วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2552

สมาชิกกลุ่ม

สมาชิกกลุ่มอาณาจักรสัตว์
1.ชื่นชม คำหวัน2.ภูริวัฒน์ อ่างนิลพันธ์
3.ยุวธิดา กลั่นประโคน
4.วีระพล สกุลทอง
5.ศรีราม นวลประโคน
ชั้นม.6/4

วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2552

ไฟลัมเอชิโนเดอร์มาตา (Phylum Echinodermata)

ไฟลัมเอชิโนเดอร์มาตา (Phylum Echinodermata)
Echinodermata มาจากคำกรีก (echinos +derm = spiny skin) แปลว่าผิวหนังที่มีหนาม จึงเรียกว่าสัตว์ผิวหนาม เป็นสัตว์ทะเลทั้งหมด พบประมาณ 7,000 สปีชีส์ ดำรงชีพอย่างอิสระ ไม่เป็นปรสิต ตัวอ่อนมีสมมาตรด้านข้าง แต่ตัวเต็มวัยมีสมมาตรตามแนวรัศมี ปากอยู่ตรงกลาง มีรยางค์ยื่นออกไป อาจมี 5 แฉก หรือมากกว่า บางชนิดมีหนามแข็งยาวขยับได้
ลักษณะที่สำคัญ



1. รูปร่างในวงชีวิตของสัตว์กลุ่มนี้ มีรูปร่าง 2 แบบ คือ มีสมมาตรครึ่งซีก ซึ่งพบในระยะที่เป็นตัวอ่อน เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยแล้ว รูปร่างจึงค่อยเปลี่ยนไปเป็นแบบสมมาตรรัศมี ไม่มีส่วนหัวและไม่มีปล้อง
2. ร่างกายประกอบด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชั้น ชั้นนอกเป็นเอพิเดอร์มิสชั้นเดียวบาง ๆ ปกคลุมโครงร่างภายใน (endoskeleton) ซึ่งเป็นแผ่นหินปูนที่เจริญมาจากชั้นมีโซเดอร์ม (mesoderm) เช่นเดียวกับระบบโครงกระดูกของสัตว์มีกระดูกสันหลัง แผ่นหินปูนบางแผ่นมีหนาม (calcareous spine) ติดอยู่ด้วย 3. ลำตัวแบ่งออกเป็น 5 ส่วนในแนวรัศมีเท่า ๆกัน มีลักษณะเป็น 5 แฉก (pentamerous) แต่ละแฉกเรียกว่า แขนหรืออัมบูลากา (arm หรือ ambulaca) ด้านล่างมีเท้าท่อ (tube feet) ซึ่งช่วยในการเคลื่อนที่หรือจับอาหาร
4. มีระบบท่อน้ำ (water vascular system) ภายในร่างกายซึ่งเจริญมาจากช่องตัวในระยะตัวอ่อน ภายในท่อบรรจุด้วยน้ำเค็มจากภายนอก ลักษณะภายนอกของระบบนี้ที่พอเห็นได้คือ เท้าท่อ (tube feet) เมื่อทำงานร่วมกันทำให้สามารถเคลื่อนไหวจับอาหาร หายใจและรับความรู้สึกได้ ระบบนี้ถือว่าเป็นระบบไฮดรอลิก (hydraulic system) ซึ่งไม่มีในสัตว์ไฟลัมอื่น
5. มีช่องตัวกว้าง และมีเยื่อบุช่องตัว (peritoneum) บุอยู่ภายใน ภายในช่องตัวมีของเหลวและมีเซลล์อะมีโบไซต์ (amoebocyte) ลอยเคลื่อนที่อยู่ 6. การหายใจ อวัยวะที่ใช้ในการหายใจ คือ เหงือกที่ผิวหนัง (skin gill or dermal branchia) นอกจากนั้นยังหายใจด้วยท่อขา บางพวกหายใจด้วยอวัยวะหายใจที่เรียกว่า respiratory tree ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อแตกแขนงติดต่อกับทวารหนัก หายใจโดยนำน้ำเข้าและออกจากท่อนี้ผ่านทางทวารหนัก เช่น การหายใจของปลิงทะเล
7. ระบบหมุนเวียนโลหิต มีลักษณะลดลงไปอย่างมาก บางชนิดไม่มีเลย ส่วนการขับถ่ายไม่มีอวัยวะขับถ่ายที่ทำหน้าที่โดยตรง
8. ทางเดินอาหารเป็นแบบสมบูรณ์ ยกเว้นสมาชิกใน Class Ophiuroidea ทางเดินอาหารจะไม่มีทวารหนัก เช่น ดาวเปราะ
9. ระบบประสาทไม่มีส่วนสมองที่แท้จริง แต่พบว่ามีระบบประสาทวงแหวน (nerve ring) ล้อมรอบหลอดอาหารไว้ และมีเส้นประสาทรัศมี (radial nerve) แยกออกจากประสาทวงแหวนไปเลี้ยงที่แขน อวัยวะรับความรู้สึกเจริญน้อยมาก
10. มีเพศแยกกัน (dioecious) มีอวัยวะสืบพันธุ์และท่อสืบพันธุ์แบบง่าย ๆ อยู่บริเวณโคนแขนแต่ละแขน มีการผสมนอกตัวซึ่งเกิดการปฏิสนธิในน้ำทะเล

ไฟลัมแอนเนลิดา (Phylum Annelida)

ไฟลัมแอนเนลิดา (Phylum Annelida)
Annelida มาจากภาษาละติน (annullus = little ring) แปลว่า วงแหวนหรือปล้อง หมายถึง หนอนปล้อง สัตว์ในไฟลัมแอนเนลิดา มีร่างกายที่ประกอบด้วยปล้อง (segment หรือ somite) แต่ละปล้องคล้ายวงแหวนเรียงต่อกันจนตลอดลำตัว และแสดงการเป็นปล้องทั้งภายในและภายนอก เช่นลักษณะกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ระบบหมุนเวียนโลหิต อวัยวะขับถ่ายตลอดจนอวัยวะสืบพันธุ์ ต่างก็จัดเป็นชุดซ้ำ ๆ กันตลอดลำตัว และมีเยื่อกั้น (septum) กั้นระหว่างปล้อง ทำให้ช่องตัว ถูกแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ด้วย สัตว์ในไฟลัมนี้ที่รู้จักมีประมาณ 15,000 สปีชีส์ มีขนาดยาวน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร จนยาวถึง 3 เมตร พบอยู่ทั้งในน้ำเค็ม น้ำจืด และที่ชื้นแฉะ

ลักษณะที่สำคัญ
1. ร่างกายแบ่งเป็นปล้องอย่างแท้จริง มีสมมาตรแบบครึ่งซีก (bilateral symmetry)
2. เนื้อเยื่อแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ผนังร่างกายประกอบด้วยเอพิเดอร์มิสซึ่งมีชั้นคิวติเคิลบางๆปกคลุมอยู่ ถัดเข้าไปเป็นชั้นกล้ามเนื้อวงกลม (circular muscle ) และกล้ามเนื้อชั้นในเป็นชั้นกล้ามเนื้อตามยาว (longitudinal muscle)
3. มีรยางค์เป็นแท่งเล็ก ๆ เรียกว่า เดือย (setae) เป็นสารไคติน (citin) เช่นไส้เดือนดิน มีเดือยช่วยในการเคลื่อนที่และการขุดรู ส่วนไส้เดือนทะเลมีเดือยและแผ่นขาหรือพาราโพเดีย (parapodia) ยื่นออกมาทางด้านข้างของลำตัวใช้ในการเคลื่อนที่ แต่ปลิงไม่มีรยางค์ใด ๆ
4. มีช่องตัวที่แท้จริง ช่องตัวถูกแบ่งออกเป็นห้อง ๆ โดยมีเยื่อกั้น (septum) กั้นช่องตัวไว้ ภายในช่องตัวมีของเหลว (coelomic fluid) บรรจุอยู่ทำให้ร่างกายไม่แฟบ
5. ทางเดินอาหารสมบูรณ์เป็นท่อยาวตลอดร่างกาย
6. ระบบหมุนเวียนโลหิตเป็นแบบปิด (closed circulatory system) น้ำเลือดมีสีแดงเพราะมีฮีโมโกลบินละลายอยู่
7. หายใจผ่านทางผิวหนังหรือเหงือก
8. ระบบขับถ่ายจะเป็นอวัยวะขับถ่ายที่เรียกว่า เนฟริเดีย (nephridia) อยู่ทุกปล้อง ๆ ละ 1 คู่ เนฟริเดียจะช่วยขับของเสียออกจากช่องตัวและกระแสโลหิตออกนอกร่างกายทางรูขับถ่าย (nephridiopores)
9. ระบบประสาทประกอบด้วยปมประสาทสมอง (cerebral ganglia) ติดต่อกับเส้นประสาทใหญ่ด้านท้อง (ventral nerve cord) ซึ่งทอดตามยาวของร่างกาย เส้นประสาทใหญ่ทางด้านหลังจะมีปมประสาทประจำปล้อง (segment ganglia) ปล้องละ 1 ปม
10. หนอนปล้องบางชนิดเป็นกะเทย (hermaphrodite) แต่มีการปฏิสนธิข้ามตัว เช่น ไส้เดือนดิน ปลิงน้ำจืด พวกนี้มีการเจริญเติบโตโดยไม่ต้องผ่านระยะตัวอ่อน หนอนปล้องบางชนิดมีเพศแยกกัน(dioecious) และการเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยต้องผ่านระยะตัวอ่อน ที่เรียกว่า โทรโคฟอร์ (trochophore) เช่น แม่เพรียง เพรียงดอกไม้ ด้วยเหตุที่หนอนปล้องมีระยะตัวอ่อนโทรโคฟอร์ เช่นเดียวกับพวกมอลลัสก์ที่อยู่ในทะเล ทำให้นักชีววิทยาเชื่อว่าสัตว์ทั้ง 2 กลุ่มจะต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

ไฟลัมมอลลัสกา (Phylum Mollusca)

ไฟลัมมอลลัสกา (Phylum Mollusca)
Mollusca มาจากภาษาละติน (molluscus = soft) แปลว่า นิ่ม หมายถึงลำตัวนิ่ม จึงเรียกสัตว์ลำตัวนิ่ม ซึ่งมักจะมีเปลือก (shell) หุ้มอีกชั้นหนึ่ง เป็นสารพวกแคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate) หรือบางชนิดเปลือกก็ลดรูปไปเป็นโครงร่างที่อยู่ภายในร่างกาย สัตว์ในไฟลัมมอลลัสคา เรียกโดยทั่วไปว่า มอลลัสก์ (mollusk) ที่รู้จักกันดีได้แก่หอยกาบคู่ (clams) หอยกาบเดี่ยว (snail) หอยงาช้าง (tusk shell) หมึกต่าง ๆ เช่น หมึกกล้วย (squid) หมึกสายหรือหมึกยักษ์ (octopus) และลิ่นทะเล (chiton) หรือเรียกว่าหอยแปดเกล็ด ซึ่งปัจจุบันพบสัตว์ในไฟลัมนี้มากกว่า 150,000 สปีชีส์ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในน้ำเค็ม และมีบางส่วนอยู่ในน้ำจืด และบนบก
ลักษณะที่สำคัญ
1. ขนาด ซึ่งมีขนาดตั้งแต่เล็กมาก จนถึงขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังด้วยกัน เช่นหมึกบางตัวยาวถึง 16 เมตร ความยาวรอบตัว 6 เมตร และหนักหลายพันกิโลกรัม ซึ่งขนาดทั่ว ไปยาวประมาณ 1 – 3 นิ้ว
2. ร่างกายอ่อนนิ่ม ไม่มีปล้อง ประกอบ ด้วยส่วนต่าง ๆ
2.1 ส่วนหัว บางชนิดมีส่วนหัวชัดเจนแต่บางชนิดไม่เจริญ บนหัวอาจมีหนวด (tentacles) บางชนิดมีตาเจริญดีมาก เทียบเท่ากับตาของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น หมึก แต่บางชนิดไม่มีตาเลย
2.2 ส่วนเท้า (foot) เป็นส่วนของกล้ามเนื้อที่อยู่ทางด้านท้อง (ventral) ใช้เคลื่อนที่หรือไชดิน
2.3 ก้อนอวัยวะภายใน (visceral mass) ซึ่งประกอบด้วยระบบอวัยวะต่าง ๆ
2.4 เยื่อแมนเทิล (mantle) เป็นเยื่อบาง ๆ ที่ปกคลุมตัวและติดต่อพื้นด้านในของกาบ (shell) เยื่อแมนเทิลทำหน้าที่สร้างเปลือกหุ้มตัวและรับความรู้สึก ส่วนช่องที่อยู่ระหว่างเยื่อแมนเทิลกับก้อนอวัยวะภายใน เรียกว่าช่องแมนเทิล (mantle cavity) ภายในช่องแมนเทิลมีเงือก (gill)
3. ระบบทางเดินอาหารเป็นแบบสมบูรณ์คือ มีปาก และทวารหนัก ทางเดินอาหารมักมีลักษณะเป็นท่อขดเป็นเกลียวหรือรูปตัวยู ประกอบด้วย ปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะ ลำไส้ และทวารหนัก มีต่อมสร้างน้ำย่อยและตับ นอกจากนั้น มีอวัยวะที่ใช้ในการบดอาหารในบริเวณคอหอยมีลักษณะคล้ายตะไบ เรียกว่า แรดูลา (radula) ซึ่งไม่มีในสัตว์กลุ่มอื่นๆ
4. มีช่องตัวที่แท้จริง (coelom) มีลักษณะลดลงมากเหลืออยู่ในลักษณะเป็นช่องรอบหัวใจ (pericardial cavity) ช่องไต และอวัยวะสืบพันธุ์
5. ระบบหมุนเวียนโลหิตเป็นระบบเปิด (open circulation system) ที่เจริญมีหัวใจ 3 ห้อง คือออริเคิล 2 ห้อง เวนติเคิล 1 ห้อง อยู่ภายในเยื่อหุ้มหัวใจ (pericardium) มีเส้นเลือดนำไปตามส่วนต่าง ๆของร่างกาย นอกจากนั้น เลือดยังซึมแพร่เข้าไปในแอ่งรับเลือด (blood sinus หรือ hemocoel) เซลล์เม็ดเลือดของมอลลัสก์ เป็นเซลล์ประเภทอมีโบไซด์ ลอยอยู่ในน้ำเลือด (plasma) รงควัตถุในการแลกเปลี่ยนแก๊สเป็น ฮีโมไซยานิน (hemocyanin) ซึ่งเมื่อรวมตัวกับออกซิเจนจะเป็นสีฟ้าอ่อน มีบางชนิดเท่านั้นที่เป็นฮีโมโกลบิน (hemoglobin) เช่นหอยแครง
6. หายใจโดยใช้เหงือก (gills) หรือปอด (lung) ผิวหนังและเยื่อแมนเทิล
7. การขับถ่าย มี ไตหรือเนฟริเดียม (nephridium) 1 หรือ 2 คู่ หรืออาจมีเพียงอันเดียว ไตมีลักษณะเป็นท่อยาวปลายข้างหนึ่งเปิดเข้าในช่องรอบหัวใจ ปลายอีกข้างหนึ่งเปิดออกสู่ภายนอกในบริเวณช่องแมนเทิล
8. ระบบประสาท ประกอบด้วยปมประสาท (ganglia) 3 คู่ และมีเส้นประสาทใหญ่ (nerve cord) 2 คู่ เส้นประสาทคู่ที่หนึ่งออกจากสมองหรือปมประสาทสมอง (cerebral ganglia)ไปยังปมประสาทที่เท้า (pedal ganglia) ส่วนเส้นประสาทคู่ที่ 2 ออกจากปมประสาทสมองไปยังปมประสาทอวัยวะภายใน (visceral ganglia) สำหรับปมประสาทสมองนั้นมีลักษณะเป็นวงแหวน (nerve ring) ล้อมรอบหลอดอาหารส่วนนี้ทำหน้าที่เป็นสมอง
9. เพศ ส่วนใหญ่มีเพศแยกกันเป็นตัวผู้และตัวเมีย (dioecious) แต่บางชนิดเป็นกะเทย (hermaphrodite) และสามารถเปลี่ยนเพศได้ (protandry) การปฏิสนธินั้น เป็นทั้งแบบภายในตัวหรือภายนอกตัว พวกที่อยู่ในทะเลจะมีระยะตัวอ่อนที่เรียกว่า โทรโคฟอร์ (trochophore larva) ด้วย

ไฟลัมแพลทีเฮลมินเทส (Phylum Platyhelminthes)

ไฟลัมแพลทีเฮลมินเทส (Phylum Platyhelminthes)
Platyhelminthes มาจากภาษากรีก (platy + helminth = flat worm) หมายถึงหนอนที่มีลำตัวแบน ได้แก่พวกหนอนตัวแบน ชื่อสามัญ flat worm มีทั้งที่ดำรงชีวิตอย่างอิสระ เรียกหนอนตัวแบน และพวกที่เป็นพยาธิในสัตว์อื่น เรียกพยาธิตัวแบน โดยสัตว์ในไฟลัมนี้อาศัยอยู่ทั้งในน้ำเค็ม น้ำจืด และบริเวณพื้นดินที่มีชื้นสูง พบประมาณ 20,000 สปีชีส์

ลักษณะที่สำคัญ
1. มีสมมาตรเป็นแบบครึ่งซีก (bilateral symmetry)
2. มีเนื้อเยื่อ 3 ชั้นครบถ้วน (triloblastics) ไม่มีช่องตัว(acoelomate) คือไม่มีช่องว่างระหว่างผนังลำตัวกับผนังทางเดินอาหาร ผนังชั้นนอกอ่อนนุ่ม บางชนิดมีซิเลีย เช่น พลานาเลียบางชนิดมีคิวทิเคิล (cuticle) หุ้มและมีปุ่มดูด หรือขอเกี่ยว (hooks) สำหรับยึดเกาะกับโฮสต์ (host) เช่นพยาธิใบไม้ (flukes) พยาธิตัวตืด (tapeworms)
3. ร่างกายแบนทางด้านหลังและด้านท้อง (dorsoventrally) ไม่มีข้อปล้อง แต่บางชนิดเช่นพยาธิตัวตืด มีข้อปล้องแต่เป็นปล้องที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ผิวลำตัวเท่านั้น
4. พวกที่มีการดำรงชีวิตอย่างอิสระจะมีเมือกลื่น ๆ หุ้มตัวเพื่อใช้ในการเคลื่อนที่ ส่วนพวกที่ดำรงชีวิตแบบปรสิต (parasitic type) จะมีคิวทิเคิล (cuticle) หุ้มตัวซึ่งสร้างจากเซลล์ที่ผิวของลำตัว ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายซึ่งเกิดจากน้ำย่อยของผู้ถูกอาศัย (host)
5. มีท่อทางเดินอาหารที่เป็นปลายตัน หรือเป็นแบบที่ไม่สมบูรณ์ มีปากแต่ไม่มีทวารหนัก และพบว่าทางเดินอาหารแตกแขนงออกเป็น 2-3 แฉก ส่วนในพยาธิตัวตืดไม่มีทางเดินอาหาร
6. สัตว์ในไฟลัมนี้เริ่มมีการรวมตัวของอวัยวะแสดงลักษณะหัว (cephalization) คือมีปมประสาทสมอง อวัยวะรับความรู้สึกและช่องปากมารวมกันอยู่ทางด้านหน้าของลำตัว
7. ระบบขับถ่าย มีอวัยวะที่เรียกว่า โพรโตเนฟริเดีย (protonephridia) มีลักษณะเป็นท่อที่ปลายด้านในปิดและมีท่อไปเปิดออกด้านนอก ซึ่งประกอบด้วยท่อตามยาวหลายท่อ (protonephridial canal) จากท่อเล็ก ๆ นี้จะมีท่อแยกไปเป็นท่อย่อย (capillary) ที่ปลายท่อย่อยมีเซลล์โพรโตเนฟริเดียลักษณะเป็นรูปถ้วย (flame bulb) มีแฟลกเจลลัมเป็นกระจุกอยู่ด้านในของถ้วย ซึ่งจะโบกพัดไปมาคล้ายเปลวเทียน จึงเรียกว่า เฟลมเซลล์
(flame cell = เซลล์เปลวไฟ) การโบกพัดของแฟลกเจลลัมทำให้เกิดแรงดึงน้ำผ่านเข้าสู่ท่อของเสียที่โพรโตเนฟริเดีย กำจัดออกในรูปของแอมโมเนียที่ละลายอยู่ในน้ำ ซึ่งจะไหลออกมาตามท่อและออกสู่ภายนอกทางช่องเปิดที่เรียกว่า เนฟริดิโอพอร์ (nephridiopore)
8.ไม่มีอวัยวะที่ใช้ในการหายใจโดยเฉพาะ ในพวกปรสิตจะหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจน (anaerobic respiration) เช่นพยาธิใบไม้ ซึ่งพบว่ากระบวนการนี้ให้คาร์บอนไดออกไซด์และอินทรีย์สารสะสมอยู่ในร่างกายสูง ความเข้มข้นของน้ำนอกร่างกายสูงกว่าภายในร่างกายจึงมีผลทำให้น้ำเคลื่อนผ่านเข้าสู่ร่างกาย ระบบขับถ่ายจึงทำหน้าที่ปรับสภาวะน้ำภายในร่างกายให้สมดุล ส่วนพวกที่ดำรงชีวิตอย่างอิสระจะหายใจแบบใช้ออกซิเจน (aerobic respiration) โดยการใช้ผิวตัวในการแลกเปลี่ยนแก๊ส
9. ระบบประสาทประกอบด้วยปมประสาทด้านหน้า (anterior ganglia) หรือปมประสาท รูปวงแหวน (nerve ring) ทำหน้าเป็นสมองเชื่อมระหว่างเส้นประสาทใหญ่ตามยาว (longitudinal nerve cord) ซึ่งทอดไปตามยาวของร่างกายจำนวน 2 เส้น และมีเส้นประสาทตามขวาง (transverse nerve) เชื่อมระหว่างเส้นประสาทใหญ่ทั้งสองด้วย มีอวัยวะรับสัมผัสแบบง่าย ๆ บางชนิดมีตา (eye spot)
10. ระบบสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศโดยมีสองเพศอยู่ในตัวเดียวกัน จัดเป็นกะเทย (hermaphrodite) มีการปฏิสนธิภายในตัวเอง (self fertilization) และปฏิสนธิแบบข้ามตัว (cross fertilization) และมีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ โดยการงอกใหม่ (regeneration)

ไฟลัมคอร์ดาตา (Phylum Chordata)

สิ่งมีชีวิตในไฟลัมคอร์ดาตาทั้งหมดเป็นสัตว์หลายเซลล์ที่ไม่สามารถสร้างอาหารได้เองและต้องการใช้ออกซิเจนในการสร้างพลังงาน พวกคอร์เดตโดยทั่วไปจะมีบางลักษณะคล้ายคลึงกับสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่บางลักษณะก็แตกต่างกันอย่างมากมาย เช่น มีสมมาตรแบบครึ่งซีก (bilaterally symmetrical) ร่างกายมีลักษณะเป็นปล้อง และมีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น การเกิดช่องตัวเป็นแบบเอนทีโรซีลา (enterocoela) เช่นเดียวกับพวกเอคไคโนเดิร์ม (เป็น Deuterostromes เช่นเดียวกับเอคไคโนเดิร์ม) มีระบบอวัยวะที่แบ่งหน้าที่กันเป็นอย่างดี ระบบหมุนเวียนโลหิตเป็นระบบปิดโดยมีหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกาย และมีเพศแยกกันเป็นต้น

ลักษณะที่สำคัญ
1. การมีโนโตคอร์ด (notochord) พวกคอร์เดตทุกชนิดจะต้องมีโนโตคอร์ดอย่างน้อยช่วงหนึ่งของชีวิต พวกคอร์เดตชั้นต่ำ เช่น แอมฟิออกซัสจะมีโนโตคอร์ด ตลอดชีวิต พวกคอร์เดตชั้นสูงเช่นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังจะมีโนโตคอร์ดในระยะตัวอ่อนเท่านั้น พอเจริญเติบโตจะเกิดกระดูกสันหลังขึ้นมาแทนที่โนโตคอร์ด ลักษณะของโนโตคอร์ดจัดเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เจริญมาจากเนื้อเยื่อชั้นมีโซเดิร์ม ประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ที่ค่อนข้างอ่อนคล้ายวุ้น แต่มีเปลือกหุ้ม (sheath) หุ้มอีกชั้นทำให้มีลักษณะเป็นแท่งแข็งแรง แต่ยืดหยุ่นได้ดี และไม่แบ่งเป็นปล้อง แท่งโนโตคอร์ดเป็นโครงสร้างค้ำจุนที่อยู่ทางด้านหลังใต้ระบบประสาทส่วนกลางแต่อยู่เหนือทางเดินอาหาร notochord = a rod-shaped supporting axis, or backbone
2. การมีช่องเหงือก (pharyngeal gill slits) คอร์เดตทุกชนิดโดยเฉพาะพวกที่อยู่ในน้ำจะมีช่องเหงือกตลอดชีวิต ส่วนพวกที่อาศัยอยู่บนบกจะพบช่องเหงือกในระยะตัวอ่อนเท่านั้น เมื่อเจริญเติบโตขึ้น ช่องเหงือกจะปิดซึ่งอาจจะพบร่องรอยเพียงเล็กน้อย (ในคนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นท่อยูสเตเชียนเชื่อมระหว่างหูส่วนกลางกับหลอดลมบริเวณคอ) การเกิดช่องเหงือกจะเกิดขึ้นในบริเวณคอหอยของตัวอ่อน โดยบริเวณคอหอยจะโป่งออกไปนอกผิวตัวทางด้านข้างและมีรอยแตกเป็นช่องเหงือกซึ่งเป็นอวัยวะหายใจ พวกแอมฟิออกซัส ปลาปากกลม ปลาฉลาม ตลอดจนปลากระดูกแข็งจะดูดน้ำเข้าทางปากและผ่านออกทางช่องเหงือก ทำให้เกิดการหายใจขึ้น พวกสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อยู่บนบกและหายใจด้วยปอดจะมีช่องเหงือกในระยะตัวอ่อน และ (อาจจะ) ทำหน้าที่หายใจในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น

ไฟลัมคอร์ดาตา (Phylum Chordata)
3. การมีระบบประสาทด้านหลัง (Dorsal Hollow Nerve Cord) คอร์เดตทุกชนิดจะต้องมีโครงสร้างนี้ตลอดชีวิตมีลักษณะเป็นท่อยาวตลอดลำตัวทางด้านหลัง เส้นประสาททางด้านหัวอาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นสมอง ส่วนทางด้านท้ายเจริญเป็นไขสันหลัง (spinal cord) การเกิดระบบประสาทนี้เกิดขึ้นในระยะตัวอ่อน โดยการม้วนตัวเข้าหากันของเนื้อเยื่อชั้นเอคโตเดิร์มทางด้านหลังกลายเป็นท่อฝังอยู่ใต้ผิวหนัง

ไฟลัมอาร์โทรโพดา (Phylum Arthropoda)



ไฟลัมอาร์โทรโพดา (Phylum Arthropoda)
สัตว์ที่จัดอยู่ในไฟลัมนี้เรียกว่าสัตว์ขาข้อ หรืออาร์โทรพอด (Arthropod) ซึ่งหมายถึงมีรยางค์ต่อกัน เป็นข้อๆ สัตว์กลุ่มนี้มีจำนวนมากที่สุด ประมาณ1,200,000 ชนิด หรือกว่า 80% ของอาณาจักรสัตว์ พวกอาร์โทรพอดมีความสำพันธ์กับพวกแอนเนลิดมากโดยเจิญมาจากพวกแอนเนลิด

ลักษณะที่สำคัญ
1. มีสมมาตรแบบผ่าซีก
2. มีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น และมีช่องตัวแบบแท้งจริง
3. ลำตัวมีลักษณะเป็นปล้อง และแบ่งออกเป็นส่วนๆโดยทั่วไปแล้วมี 3 ส่วน คือ ส่วนหัว(Head) ส่วนอก( Thorax) และส่วนท้อง(Abdomen) เช่นพวกแมลง แต่บางชนิดส่วนหัวและส่วนอกจะรวมกันเป็นส่วนเดียวแยกออกจากกันไม่ได้เรียกว่า เซฟาโลทอแรกซ์ (Cephalothorax) เช่น กุ้ง ปู นอกจากนี้ในพวกกิ้งกือและ ตะขาบส่วนของอกและท้องจะมีลักษณะเหมือนกัน
4. มีรยางค์ยื่นออกจากลำตัวเป็นคู่ๆ เช่น ขาเดิน ขาว่ายน้ำ อวัยวะส่วนปาก หนวด ปีก และรยางค์เหล่านี้มักมีลักษณะต่อกันเป็นข้อๆด้วย
5. มีโครงร่างภายนอก (Exoskeleton) เป็นสารจำพวกไคทิน(Chitin) แข็งหุ้มรอบตัว ดังนั้นในขณะที่มีการเจริญเติบโต สัตว์ในไฟลัมนี้หลายชนิดจึงต้องมีการลอกคราบ (Molting) เพื่อเอาเปลือกเก่าซึ่งมีขนาดเล็กออกเล็กแล้วสร้างเปลือกใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าขึ้นมาแทน
6. ทางเดินอาหารเป็นแบบสมบูรณ์ มีปากและทวารหนัก สำหรับส่วนปากมีอวัยวะที่ช่วยในการกินอาหารและมีการดัดแปลงไปเพื่อให้เหมาะสมกับ สภาพของอาหาร เช่นมีปากแบบกัดกิน ดูดกิน เจาะดูด เป็นต้น
7. ระบบหมุนเวียนโลหิตเป็นระบบเปิด (Open circutory sysytem) โดยเลือดเมื่อออกจากหัวใจเทียม (Pseudoheart) แล้วจะไหลไปตามเส้นเลือด ต่อจากนั้นจะไหลเข้าสู่ช่องว่างในลำตัว (Hemocoel) แล้วไหลกลับเข้าสู่หัวใจอีก จะเห็นได้ว่าเลือดไม่ได้อยู่ภายในหัวใจและเส้นเลือดตลอดเวลา แต่มีบางระยะที่เลืออดไหลออกมาอยู่นอกเส้นเลือด จึงเรียกระบบการหมุนเวียนแบบนี้ว่า ระบบเปิด นอกจากนี้ สัตว์กลุ่มนี้อามีเลือดเป็นสีฟ้าอ่อนหรือไม่มีสีเนื่องจากสาร เฮโมไซยานิน (Hemocyanin) เป็นองค์ประกอบหรือมีสีแดงเนื่องจากเฮโมโกลบิน (Hemoglobin) เป็นองค์ประกอบ
8. มีระบบขับถ่ายเป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่ม เช่น แมลงมี มัลพีเกียน ทูบูล (Malpighain tuble) ซึ่งเป็นท่ออยู่ที่ทางเดินอาหารเป็นอวัยวะขับถ่าย กุ้งมีกรีนแกลนด์ หรือต่อมเขียว (Green gland) ที่โคนหนวดทำหน้าที่ขับถ่าย
9. ระบบหายใจประกอบด้วยอวัยวะหาบใจหลายชนิดในพวกที่อยู่ในน้ำเช่น พวกกุ้ง ปู หายใจด้วยเหงือก (Gill) พวกแมลงหายใจได้ด้วยระบบท่อลม (Tracheal system) ที่แทรกอยู่ทั้งตัว แมงมุมหายใจด้วยบุคลัง (Book lung) ที่บริเวณส่วนท้อง ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นบางๆซ้อนกันอยู่หลายชั้นเป็นต้น
10. ระบบประสาทมีปมประสาทที่หัว 1 คู่ และมีเส้นประสาททางด้านท้อง (Ventral nerver cord) ทอดไปตามความยาวของลำตัว 1 คู่และมีอวัยวะสัมผัสเจริญดี เช่น ตาเดี่ยว ตาประกอบ หนวด ขาสัมผัสเป็นต้น
11. ระบบสืบพันธุ์เป็นสัตว์แยกเพศ มักมีการปฏิสนธิภายในตัว และออกลูกเป็นไข่ที่มีไข่แดงมาก ในขณะที่มีการเจิญเติบโตมักมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปด้วย