วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2552

ไฟลัมคอร์ดาตา (Phylum Chordata)

สิ่งมีชีวิตในไฟลัมคอร์ดาตาทั้งหมดเป็นสัตว์หลายเซลล์ที่ไม่สามารถสร้างอาหารได้เองและต้องการใช้ออกซิเจนในการสร้างพลังงาน พวกคอร์เดตโดยทั่วไปจะมีบางลักษณะคล้ายคลึงกับสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่บางลักษณะก็แตกต่างกันอย่างมากมาย เช่น มีสมมาตรแบบครึ่งซีก (bilaterally symmetrical) ร่างกายมีลักษณะเป็นปล้อง และมีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น การเกิดช่องตัวเป็นแบบเอนทีโรซีลา (enterocoela) เช่นเดียวกับพวกเอคไคโนเดิร์ม (เป็น Deuterostromes เช่นเดียวกับเอคไคโนเดิร์ม) มีระบบอวัยวะที่แบ่งหน้าที่กันเป็นอย่างดี ระบบหมุนเวียนโลหิตเป็นระบบปิดโดยมีหัวใจทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกาย และมีเพศแยกกันเป็นต้น

ลักษณะที่สำคัญ
1. การมีโนโตคอร์ด (notochord) พวกคอร์เดตทุกชนิดจะต้องมีโนโตคอร์ดอย่างน้อยช่วงหนึ่งของชีวิต พวกคอร์เดตชั้นต่ำ เช่น แอมฟิออกซัสจะมีโนโตคอร์ด ตลอดชีวิต พวกคอร์เดตชั้นสูงเช่นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังจะมีโนโตคอร์ดในระยะตัวอ่อนเท่านั้น พอเจริญเติบโตจะเกิดกระดูกสันหลังขึ้นมาแทนที่โนโตคอร์ด ลักษณะของโนโตคอร์ดจัดเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เจริญมาจากเนื้อเยื่อชั้นมีโซเดิร์ม ประกอบด้วยกลุ่มเซลล์ที่ค่อนข้างอ่อนคล้ายวุ้น แต่มีเปลือกหุ้ม (sheath) หุ้มอีกชั้นทำให้มีลักษณะเป็นแท่งแข็งแรง แต่ยืดหยุ่นได้ดี และไม่แบ่งเป็นปล้อง แท่งโนโตคอร์ดเป็นโครงสร้างค้ำจุนที่อยู่ทางด้านหลังใต้ระบบประสาทส่วนกลางแต่อยู่เหนือทางเดินอาหาร notochord = a rod-shaped supporting axis, or backbone
2. การมีช่องเหงือก (pharyngeal gill slits) คอร์เดตทุกชนิดโดยเฉพาะพวกที่อยู่ในน้ำจะมีช่องเหงือกตลอดชีวิต ส่วนพวกที่อาศัยอยู่บนบกจะพบช่องเหงือกในระยะตัวอ่อนเท่านั้น เมื่อเจริญเติบโตขึ้น ช่องเหงือกจะปิดซึ่งอาจจะพบร่องรอยเพียงเล็กน้อย (ในคนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปเป็นท่อยูสเตเชียนเชื่อมระหว่างหูส่วนกลางกับหลอดลมบริเวณคอ) การเกิดช่องเหงือกจะเกิดขึ้นในบริเวณคอหอยของตัวอ่อน โดยบริเวณคอหอยจะโป่งออกไปนอกผิวตัวทางด้านข้างและมีรอยแตกเป็นช่องเหงือกซึ่งเป็นอวัยวะหายใจ พวกแอมฟิออกซัส ปลาปากกลม ปลาฉลาม ตลอดจนปลากระดูกแข็งจะดูดน้ำเข้าทางปากและผ่านออกทางช่องเหงือก ทำให้เกิดการหายใจขึ้น พวกสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อยู่บนบกและหายใจด้วยปอดจะมีช่องเหงือกในระยะตัวอ่อน และ (อาจจะ) ทำหน้าที่หายใจในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น

ไฟลัมคอร์ดาตา (Phylum Chordata)
3. การมีระบบประสาทด้านหลัง (Dorsal Hollow Nerve Cord) คอร์เดตทุกชนิดจะต้องมีโครงสร้างนี้ตลอดชีวิตมีลักษณะเป็นท่อยาวตลอดลำตัวทางด้านหลัง เส้นประสาททางด้านหัวอาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นสมอง ส่วนทางด้านท้ายเจริญเป็นไขสันหลัง (spinal cord) การเกิดระบบประสาทนี้เกิดขึ้นในระยะตัวอ่อน โดยการม้วนตัวเข้าหากันของเนื้อเยื่อชั้นเอคโตเดิร์มทางด้านหลังกลายเป็นท่อฝังอยู่ใต้ผิวหนัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น