วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2552

เกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกหมวดหมู่ของอาณาจักรสัตว์

เกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกหมวดหมู่ของอาณาจักรสัตว์
ปัจจุบันสัตว์ในโลกที่มนุษย์รู้จักมีมากกว่า 1 ล้านสปีชีส์ พบทั้งในน้ำจืด น้ำเค็มและบนบก ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ สัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง (invertebrate) และสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง (vertebrate) และสามารถจำแนกเป็นไฟลัมต่าง ๆ ได้ราว 35 ไฟลัม แต่ส่วนใหญ่จะเรียนรู้กันเฉพาะไฟลัมใหญ่ ๆ เท่านั้น ซึ่งในการจัดจำแนกจะใช้เกณฑ์ต่าง ๆดังนี้
1. ระดับการทำงานร่วมกันของเซลล์ (level of cell organization) โดยดูการร่วมกันทำงานของเซลล์และการจัดเป็นเนื้อเยื่อนั้น มีลักษณะเป็นอย่างไรมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งทำให้แบ่งสัตว์ออกเป็นพวกใหญ่ ๆ คือ
1.1 เนื้อเยื่อที่ไม่แท้จริง( no true tissue) เรียกสัตว์กลุ่มนี้ว่า พาราซัว (parazoa) เนื่องจากเซลล์ในสัตว์กลุ่มนี้ไม่มีการประสานงานกันระหว่างเซลล์ โดยเซลล์ทุกเซลล์จะมีหน้าที่ในการดำรงชีวิตของตนเอง หน้าที่ทั่วไปคือด้านโภชนาการ และสืบพันธุ์ ได้แก่ พวกฟองน้ำ
1.2 เนื้อเยื่อที่แท้จริง (true tissue) เรียกสัตว์กลุ่มนี้ว่า ยูเมตาซัว (eumetazoa) ซึ่งเนื้อเยื่อจะถูกสร้างขึ้นเป็นชั้น หรือเรียกว่า ชั้นของเนื้อเยื่อ (germ layer) มี 2 ประเภทคือ
1.2.1 เนื้อเยื่อ 2 ชั้น (diploblastica) ประกอบด้วยเนื้อเยื่อชั้นนอก (ectoderm) และเนื้อเยื่อชั้นใน (endoderm) ได้แก่ พวกไฮดรา แมงกะพรุน โอบีเลีย
1.2.2. เนื้อเยื่อ 3 ชั้น (triploblastica) ประกอบด้วยเนื้อเยื่อชั้นนอก ชั้นกลาง (mesoderm) และชั้นใน ได้แก่พวกหนอนตัวแบนขึ้นไป จนถึงสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง
2. สมมาตร (symmetry) คือลักษณะการแบ่งร่างกายออกเป็นซีก ๆ ตามความยาวของซีกเท่า ๆ กัน มีอยู่ 3 ลักษณะ ได้แก่
2.1 ไม่มีสมมาตร (asymmetry) มีรูปร่างไม่แน่นอน ไม่สามารถแบ่งซีกซ้ายและซีกขวาได้ เท่า ๆ กัน ได้แก่ พวกฟองน้ำ
2.2 สมมาตรแบบรัศมี (radial symmetry) ร่างกายของสัตว์จะมีรูปร่างคล้ายทรงกระบอก หรือล้อรถ ถ้าตัดผ่านจุดศูนย์กลางแล้วจะตัดอย่างไรก็ได้ 2 ส่วนที่เท่ากันเสมอ หรือเรียกว่า มีสมมาตรที่ผ่าซีกได้เท่า ๆ กันหลาย ๆ ครั้งในแนวรัศมี ได้แก่ สัตว์พวกไฮดรา แมงกะพรุน ดาวทะเล เม่นทะเล
2.3 สมมาตรแบบครึ่งซีก (bilateral symmetry) หรือมีสามาตรที่ผ่าซีกได้เท่า ๆ กัน เพียง 1 ครั้ง สมมาตรแบบนี้สามารถผ่าหรือตัดแบ่งครึ่งร่างกายตามความยาวของลำตัวแล้วทำให้ 2 ข้างเท่ากัน ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ได้แก่ พวกหนอนตัวกลม แมลง สัตว์มีกระดูกสันหลัง
3. ลักษณะช่องว่างในลำตัวหรือช่องตัว (body cavity or coelom) คือช่องว่างภายในลำตัวที่อยู่ระหว่างผนังลำตัวกับอวัยวะภายในตัว ภายใน coelom มักจะมีของเหลวอยู่เต็ม ของเหลวเหล่านี้ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งระบบไหลเวียนโลหิตง่าย ๆ ในสัตว์บางพวกช่วยลำเลียงสารอาหาร ออกซิเจน และของเสีย เป็นต้น อีกทั้งยังช่วยลดแรงกระแทกจากภายนอกที่อาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายใน และยังเป็นบริเวณที่ทำให้อวัยวะภายในเคลื่อนที่ได้อิสระจากผนังลำตัว ยอมให้อวัยวะขยายใหญ่ได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจำแนกสัตว์ได้ แบ่งเป็น 3 พวกคือ
3.1 ไม่มีช่องว่างในลำตัวหรือไม่มีช่องตัว (no body cavity or acoelom) เป็นพวกที่มีเนื้อเยื่อ 3 ชั้นอยู่ชิดกัน โดยไม่มีช่องว่างในแต่ละชั้น ได้แก่พวกหนอนตัวแบน
3.2 มีช่องตัวเทียม (pseudocoelom) เป็นช่องตัวที่เจริญอยู่ระหว่าง mesoderm ของผนังลำตัว และ endoderm ซึ่งเป็นทางเดินอาหาร ช่องตัวนี้ไม่มีเยื่อบุช่องท้องกั้นเป็นขอบเขต ได้แก่ พวกหนอนตัวกลม โรติเฟอร์ (rotifer)
3.3 มีช่องตัวที่แท้จริง (eucoelom or coelom) เป็นช่องตัวที่เจริญแทรกอยู่ระหว่าง mesoderm 2 ชั้น คือ mesoderm ชั้นนอกเป็นส่วนหนึ่งของผนังลำตัว (body wall) กับ mesoderm ชั้นในซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผนังลำไส้ (intestinal wall) และ mesoderm ทั้งสองส่วนจะบุด้วยเยื่อบุช่องท้อง (peritoneum) ได้แก่ ไส้เดือนดิน หอย แมลง ปลา สัตว์มีกระดูกสันหลัง เป็นต้น
4. การเกิดช่องปาก ซึ่งสามารถแบ่งสัตว์ตามการเกิดช่องปากได้ 2 กลุ่ม
4.1 โปรโตสโตเมีย (protostomia) เป็นสัตว์พวกที่ช่องปากเกิดก่อนช่องทวารในขณะที่เป็นตัวอ่อน ซึ่งช่องปากเกิดจากบลาสโตพอร์ หรือบริเวณใกล้ ๆ บลาสโตพอร์ (blastopore) ได้แก่ พวกหนอนตัวแบน หนอนตัวกลม หนอนมีปล้อง หอย สัตว์ขาปล้อง
4.2 ดิวเทอโรสโตเมีย (deuterostomia) เป็นสัตว์พวกที่ช่องปากเกิดภายหลังช่องทวาร เกิดจากช่องใหม่ที่จะเจริญพัฒนาไปเป็นทางเดินอาหารซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ บลาสโตพอร์ ได้แก่ พวกดาวทะเล และสัตว์มีกระดูกสันหลัง
5. ทางเดินอาหาร (digestive tract) โดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
5.1 ทางเดินอาหารแบบไม่สมบูรณ์ (incomplete digestive tract) เป็นทางเดินอาหารของสัตว์ที่มีปากแต่ไม่มีทวารหนัก หรือมีช่องทางเดินอาหารเข้าออกทางเดียวกัน หรือทางเดินอาหารแบบปากถุง (one-hole-sac) ได้แก่พวกไฮดรา แมงกะพรุน หนอนตัวแบน
5.2 ทางเดินอาหารแบบสมบูรณ์ (complete digestive tract) เป็นทางเดินอาหารของสัตว์ที่มีทั้งปากและทวารหนัก หรือมีช่องทางเข้าออกของอาหารคนละทางกัน หรือทางเดินอาหารแบบท่อกลวง (two-hole-tube) ได้แก่ พวกหนอนตัวกลม จนถึงสัตว์มีกระดูกสันหลัง
6. การแบ่งเป็นปล้อง (segmentation) การแบ่งเป็นปล้องเป็นการเกิดรอยคอดขึ้นกับลำตัวแบ่งออกเป็น
6.1 การแบ่งเป็นปล้องเฉพาะภายนอก (superficial segmentation) เป็นการเกิดปล้องขึ้นเฉพาะที่ส่วนผิวลำตัวเท่านั้นไม่ได้เกิดตลอดตัว เช่น พยาธิตัวตืด
6.2 การแบ่งเป็นปล้องที่แท้จริง (metameric segmentation) เป็นการเกิดปล้องขึ้นตลอดลำตัวทั้งภายนอกและภายใน โดยข้อปล้องเกิดขึ้นในเนื้อเยื่อชั้นกลาง ทำให้เนื้อเยื่อชั้นอื่น ๆ เกิดเป็นปล้องไปด้วย ได้แก่ ไส้เดือน กุ้ง ปู แมลง ตลอดไปจนสัตว์มีกระดูกสันหลังทุกชนิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น